วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เรียนวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วได้อะไรบ้าง

การที่ข้าพเจ้าได้เรียนวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้บริหารนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน คือ
1. ได้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะในปัจจุบันมีการนำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยนำไปใช้ในงานด้านการวางแผน กรตัดสินใจและการดำเนินงาน ทำให้ได้รู้ถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดระบบสารสนเทศ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และพีเพิลแวร์ การจัดเตรียมระบบสารสนเทศจะประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนในการรับเข้า การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลและการส่งออก
2. ได้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาการศึกษา มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ
3. ได้ความรู้ในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะการดำเนินงานขององค์กรที่เปลี่ยนไปทำให้ทุกองค์กรเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการทำงานขององค์กร เพื่อให้องค์กรนั้นเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ได้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมืองและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนสามารถใช้ในการค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน
5. ได้ความรู้พื้นฐานของนวัตกรรมการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา จะช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษาและประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย
6. ได้ความรู้ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการศึกษาหลายอย่าง เช่น การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บไซด์ ( Wed-Based Instruction : WBI ) บทเรียนออนไลน์ ( On-line Learning ) การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
7. ได้รู้ถึงคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาควรจะต้องทราบและปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอยู่ 2 พระราชบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 นอกจากนี้ผู้บริหารยังจะต้องปฏิบัติตัวเพื่อเป็นต้นแบบและเป็นผู้ที่มีจรรยาบรรณในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกต้องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษาได้
8. ได้ความรู้ในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศสถาบันการศึกษาในอนาคต เพราะผู้บริหารจะต้องสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลง ( Change management ) ที่มีผลทำให้สถาบันการศึกษาจะต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต
ดังนั้นความรู้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้รับนี้สามารถที่จะนำมาประยุกต์และปรับใช้ในการทำงานของตัวเองได้เป็นอย่างมาก และช่วยในการประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้นด้วยค่ะ.

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผลการเรียนรู้สัปดาห์ที่ 2

ผลการเรียนรู้สัปดาห์ที่ 2

บทที่ 3 การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบสนองความต้องการภาครัฐและเอกชน

การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. ด้านการวางแผน เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินงานขององค์กร เช่น
เกี่ยวกับการจัดองค์กร บริหารงานบุคคล การผลิตสินค้า กลยุทธ์ทางการตลาด วางแผนการใช้จ่ายเป็นต้น
2. ด้านการตัดสินใจ เป็นการนำสารสนเทศไปใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา
3. ด้านการดำเนินงาน เป็นการนำสารสนเทศไปใช้ในการดำเนินงาน ช่วยผู้บริหารในการควบคุมและติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร สารสนเทศที่ใช้ในการควบคุมและติดตามผล เช่น ปริมาณที่ทำได้ใน 1 วัน จำนวนสินค้าอย่างต่ำที่ควรเก็บในสต๊อก จำนวนสินค้าที่ผลิตใน 1 วัน เป็นต้น
การตัดสินใจ ( Decision Making ) คือ การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ( goals ) การตัดสินใจที่ดีและรวดเร็วจะส่งผลดีต่อการบริหารงาน การตัดสินใจจะเกิดขึ้นทุกระดับของการบริหาร ผลของการตัดสินใจจะสะท้อนโดยตรงต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของระบบงานนั้น ๆ ปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ คือ สารสนเทศและการรู้จักนำสารสนเทศมาใช้ในการตัดสินใจ
ระดับการบริหารงานในองค์กร
การบริหารงานในองค์กร แบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ประธานกรรมการ ผู้จัดการ กรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนระยะยาว กำหนดทิศทาง เป้าหมายกลยุทธ์ขององค์กร เช่น คณะกรรมการบริหารตัดสินใจว่าบริษัทควรผลิตสินค้าใหม่
2. ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ รับนโยบายและแผนระยะยาวที่ผู้บริหารระดับสูงได้วางไว้นำมาดำเนินการและวางแผนระยะสั้นเพื่อทำให้เป้าหมายเกิดความชัดเจนขึ้น
3. ผู้บริหารระดับต้นหรือระดับปฏิบัติการ ได้แก่ หัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก มีหน้าที่ ปฏิบัติตามแผนหรือนโยบาย ควบคุมดูแลและแก้ปัญหาการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม
ระดับของการตัดสินใจ
การตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริหารจะต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่ผู้บริหารใช้เวลามากเกินไปกับประเด็นปัญหาที่ไม่สำคัญหรือพยายามแก้ปัญหาที่ผิดประเด็น การตัดสินใจมีหลายระดับ
การตัดสินใจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. การตัดสนใจระดับสูง เป็นการตัดสินใจแบบไม่การวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับอนาคตซึ่งไม่แน่นอน เกี่ยวข้องกับปัญหาแบบไม่มีโครงสร้าง เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายขององค์กรและการวางแผนระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด การตัดสินใจในระดับนี้ไม่สามารถกำหนดขั้นตอนของการตัดสินใจไว้ก่อนล่วงหน้าได้ เป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้า
2. การตัดสินใจระดับกลาง เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารระดับกลางเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหารระดับสูงจะเกี่ยวข้องกับปัญหาแบบกึ่งโครงสร้าง ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่มีโครงสร้าง บางส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ไม่มีโครงสร้าง การตัดสินใจจะมีข้อมูลหรือหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเพียงบางส่วน ที่เหลือต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้บริหาร
3. การตัดสินใจระดับปฏิบัติการ เป็นการตัดสินใจที่มีผลต่อการปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในแต่ละวัน การปฏิบัติงานเฉพาะด้านเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ การตัดสินใจระดับนี้เป็นการตัดสินใจระดับขั้นพื้นฐานเกี่ยวข้องกับงานประจำ เกี่ยวข้องกับปัญหาแบบมีโครงสร้างเป็นการตัดสินใจแบบที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
ระบบสารสนเทศสำหรับองค์กร
ระบบสารสนเทศสำหรับองค์กรเป็นระบบสารสนเทศรวมซึ่งประกอบด้วยระบบสารสนเทศย่อย ๆ ที่สัมพันธ์กันดังนี้
1. ระบบประมวลผลรายการ ( Transaction Processing Systems : TPS )
TPS เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการผลิตสารสนเทศซึ่งจัดการเกี่ยวกับรายการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดย TPS โดยจะทำการประมวลผลข้อมูลกับงานเฉพาะส่วนขององค์กรมีการเก็บข้อมูลและทำการประมวลผลแยกกัน เป็นระบบที่เกิดขึ้นในระดับผู้ปฏิบัติการระบบสารสนเทศที่ได้จะสร้างเป็นรายงานตามต้องการของผู้บริหาร
2. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ( Management Information Systems : MIS )
MIS เป็นระบบที่ผลิตสารสนเทศที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน การจัดการและการตัดสินใจ MIS จะต้องมีการสร้างฐานข้อมูลจากหลาย ๆ ฝ่ายร่วมกัน จุดเน้นของ MIS คือ เป็นการนำสารสนเทศที่เตรียมได้จาก TPS มาทำเป็นรายงานสรุปหรือรายงานพิเศษให้กับผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นสารสนเทศที่ใช้ได้กับทุกระดับขององค์กรแต่ละระดับที่เหมาะสมที่สุด คือ ผู้บริหารระดับกลาง
3. ระบบสารสนเทศสำนักงาน ( Office Information Systems : OIS )
OIS เกี่ยวข้องกับระบบการจัดเอกสาร ระบบการจัดการข่าวสาร การติดต่อสื่อสารภายในองค์กรและระหว่างองค์กร ระบบประชุมทางไกลและระบบสนับสนุนสำนักงาน
4. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ( Decision Support Systems : DSS )
DSS คือ ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสำหรับช่วยให้ผู้บริหารพิจารณาว่าจะตัดสินใจในเรื่องหนึ่ง ๆ อย่างไรดี DSS พัฒนามาจากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการโดยเพิ่มตัวแบบไว้ในระบบซึ่งได้พัฒนาขึ้นตามความต้องการของผู้บริหาร
5. ระบบสนับสนุนผู้บริหารระดับสูง ( Executive Support Systems : ESS )
ESS เป็นระบบที่ออกแบบสำหรับให้ผู้บริหารระดับสูงใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นระบบที่เข้าใจง่ายและสามารถใช้งานได้ง่ายโดยผ่านรูปแบบของการสื่อสารและกราฟิกที่ทันสมัยสามารถจัดทำสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันและควรประกอบด้วยสารสนเทศภายในองค์กรและภายนอกองค์กรด้วย

บทที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมืองและเทคโนโลยีสมัยใหม่
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
1. เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สังคมเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าอย่างกว้างขวางในทุกสาขาอาชีพสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
2. การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการพัฒนาใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อติดต่อสื่อสารให้สะดวกขึ้น มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่าง ๆ มีราคาถูกลงแต่มีความสามารถเพิ่มขึ้น
4. เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาททางด้านธุรกิจอย่างมาก ทุกธุรกิจมีการลงทุนขยายขอบเขตการให้บริการโดยใช้ระบบสารสนเทศกันมากขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม
ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคมในแง่บวก มีดังนี้
1. ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม เทคโนโลยีจะช่วยให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. ช่วยพัฒนาระบบการทำงนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องและประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ( EDI ) เทคโนโลยี RFID เป็นต้น
3. ช่วยทำให้เกิดระบบการทำงานร่วมกันได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การโต้ตอบผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย การประชุมทางไกลด้วยระบบ วี ดี โอ
คอนเฟอร์เรนส์ เป็นต้น
4. มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมสุขภาพ ความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ช่วยในด้านการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เช่น นำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการค้นคว้าวิจัย โปรแกรมระบบผู้เชี่ยวชาญ ( Expert Systems ) ช่วยในการวินิจฉัยโรคเป็นต้น
5. ช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและการศึกษาด้วยตนเองโดยใช้ ห้องสมุดเสมือนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการเรียนแบบออนไลน์ ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนการสอนผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนส์ การศึกษาทางไกล เป็นต้น

ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคมในแง่ลบ มีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีผลกระทบทางด้านพื้นฐานของโครงสร้างทางสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งทางแนวความคิดเก่ากับแนวความคิดใหม่ เกิดความรู้สึกต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
2. มีการก่ออาชญากรรมทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น มีการละเมิดลิขสิทธิ์มกขึ้น ผู้คนบนโลกไซเบอร์ขาดคุณธรรมและจริยธรรมมากขึ้น และความมีน้ำใจของผู้คนก็อาจลดลงในขณะที่ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น
3. อัตราการจ้างงานลดลง เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง
เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาทางด้านการเมือง เช่น การเตรียมข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเมืองต่าง ๆ แนวความคิด พรรคการเมือง การหาเสียงเพื่อสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้น
กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์
แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. การวิเคราะห์กลยุทธ์ คือ กระบวนการวิเคราะห์ SWOT ( SWOT Analysis ) ซึ่งในการวิเคราะห์แบ่งเป็นองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ
1.1 จุดแข็ง ( Strength ) คือ ปัจจัยภายในที่เสริมให้องค์กรเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันและการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งองค์กรสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
1.2 จุดอ่อน ( Weakness ) คือ ปัจจัยภายใยที่เป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินงานซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วทราบว่าอะไรคือจุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบที่ต้องปรับปรุงหรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินงานซึ่งองค์กรไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงาน เป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
2. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก ( Externel Analysis ) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาสหรืออุปสรรคต่อการดำเนินงาน
2.1 โอกาส ( Opportunities ) คือ ปัจจัยสนับสนุนที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการดำเนินงาน เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กร
2.2 อุปสรรค ( Threats ) คือ ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินงานและเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
2. การจัดทำกลยุทธ์ เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 และจากการประเมินตนเองมาจัดทำกลยุทธ์ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย
3. การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เน้นการประเมินโดยมุ่งเน้นในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรงและเผชิญกับอุปสรรคมากมาย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีดังต่อไปนี้
1. เพิ่มปริมาณการขาย
2. การลดต้นทุนการผลิต
3. การเพิ่มผลผลิต
4. การเพิ่มคุณภาพของสินค้าบริการ
5. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
1. การสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลา
2. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
3. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมีการเสี่ยง

ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อองค์กร
ความล้มเหลวขององค์กรอาจเกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของ
เทคโนโลยีทำให้สินค้าล้าสมัยเร็ว ปัญหาด้านการเงินแต่ถ้าองค์กรมีการบริหารจัดการที่ดีก็อาจสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
การบริหารการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาองค์สามารถทำได้หลายระดับและหลายรูปแบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ก้าวทันไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ เพราะถ้าผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์จะทำให้การนำเทคโนโลยีไปใช้ไม่คุ้มค่าหรืออาจไม่มีประสิทธิภาพ

บทที่ 5 ความรู้พื้นฐานของนวัตกรรมการศึกษา
ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ “การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ( Change ) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส ( Opportunity ) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม”
นวัตกรรมทางการศึกษา
ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา ( Educational Innovation ) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียนและช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดีทัศน์เชิงโต้ตอบ ( Interactive Video ) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
ประเภทของนวัตกรรมการศึกษา
1. นวัตกรรมทางด้านหลักสูตร
2. นวัตกรรมการเรียนการสอน
3. นวัตกรรมสื่อการสอน
4. นวัตกรรมการประเมินผล
5. นวัตกรรมการบริหารจัดการ

ขอบข่ายของนวัตกรรมการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
1. การจัดการเรื่องการสอนด้วยวิธีการใหม่ ๆ
2. เทคนิควิธีการสอนแบบต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน
3. การพัฒนาสื่อใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน
4. การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาปรับใช้ในระบบการเรียนการสอนในระบบทางไกล
และการเรียนด้วยตัวเอง
5. วิธีกรออกแบบหลักสูตรใหม่ ๆ
6. การจัดการด้านการด้านการวัดผลแบบใหม่
แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมการศึกษา
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล ( Individual different )
2. ความพร้อม ( Readiness )
3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา
4. ประสิทธิภาพในการเรียน
การสร้างนวัตกรรมการศึกษา
องค์ประกอบของการบริหารจัดการนวัตกรรมทางการศึกษา มีอยู่ 6 ประการที่สำคัญ คือ
1. โครงสร้างองค์กร ( Structure )
2. บุคลากร ( People )
3. กระบวนการ ( Process )
4. กลยุทธ์และยุทธวิธี ( Strategy )
5. เครื่องมือและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information technology/tool )
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา มีอยู่ 3 ระดับ คือ
1. ความเป็นเลิศของบุคคล ( Individual excellence )
2. ความเป็นเลิศของทีมงาน ( Teamwork excellence )
3. ความเป็นเลิศขององค์กร ( Organization excellence )
หลักการของนวัตกรรมการศึกษา มีหลักการอยู่ 5 ประการ ดังนี้
1. นวัตกรรมเป็นเรื่องความคิด ( Innovation is mindset )
2. นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Innovation is
Key to gaining competitive advantage )
3. ประสิทธิภาพของนวัตกรรมสามารถเพิ่มราคาได้ ( Effective innovation can boost stock price )
4. ผู้บริหารสูงสุดต้องนำและมีความรับผิดชอบต่อนวัตกรรม ( CEO must lead and be held accountable for innovation )
5. ผู้บริหารสูงสุดต้องผูกพันและแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น ( CEO must be committed to and instill in others a passion for innovation )
แนวโน้มของนวัตกรรมและการใช้นวัตกรรมใหม่ในองค์กร
1. การสร้างวัตกรรมในองค์กร
- กล่องความคิด ( Mindset )
- ทุนทางสติปัญญา ( Intellectual capital )
- การบริหารทางนวัตกรรม ( Innovation management )
2. การใช้นวัตกรรมใหม่ในองค์กรมีการบริหารงานด้วยการจัดการนวัตกรรมขึ้นอยู่กับ
องค์กรมีผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเข้าถึงการทำงานในทุก ๆ ระดับ มีระบบการจัดการที่เป็นระบบ
ช่องว่างของการจัดการนวัตกรรม ( Gap Analysis ) ที่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ระบบ และขั้นตอนภายในองค์กร ความสำคัญในการปิดช่องว่างจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ถึงกระบวนการจัดการธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างขององค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องการปิดช่องว่างที่เกิดขึ้นมีผลต่อการสร้างดุลยภาพ ณ จุดตัด อันมีผลทำให้มีการขับเคลื่อน ( value driver ) ในเชิงพาณิชย์การจัดการ และการมองหาโอกาสการเติบทางธุรกิจต่อไป
จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการสร้างและการใช้นวัตกรรมเริ่มจากการพัฒนาคนในองค์กร โดยการสร้างแนวคิด สติปัญญา และส่งเสริมสนับสนุนด้วยการจัดโครงสร้าง และออกแบบองค์กรให้สอดคล้องต่อการสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ในระดับบุคคล ระดับทีมและระดับองค์กร โดยอาจจะเริ่มจากการจุดประกายให้คนในองค์กรเริ่มคิด “เริ่มจินตนาการ” ซึ่งเป็นรากฐานที่นวัตกรรมในอนาคต ล้วนเป็นไปเพื่อให้องค์กรก้าวทันการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต และดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมแห่งฐานความรู้

บทที่ 6 การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการศึกษา
การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์
การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการนำเสนอ โดยมีรูปแบบการนำเสนอผลงานแบ่งได้ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่ การนำเสนอในลักษณะการจัดการเรียนการสอนบนเว็บ ( Wed Based Learning ) และการนำเสนอบทเรียนในลักษณะบทเรียนออนไลน์ ( e-Learning )
1. ความหมายของการเรียนการสอนบนเว็บ
การจัดการเรียนการสอนบนเว็บ ( Wed Based Learning : WBL ) หมายถึง รูปแบบการเรียนการสอนที่อาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยมีการใช้โปรโตคอล ( Protocol ) ของอินเทอร์เน็ต เป็นโปรโตคอลหลักในการถ่ายโอนข้อมูล เป็นรูปแบบการประยุกต์ใช้คุณสมบัติไฮเปอร์มีเดีย ( Hyper medie ) เข้ากับคุณสมบัติของอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทาง และเวลาที่แตกต่างกันของผู้เรียน ( Learning without Boundary )
2. คุณสมบัติของการเรียนการสอนบนเว็บ
การเรียนการสอนบนเว็บเป็นการผนวกคุณสมบัติไฮเปอร์มีเดีย ( Hyper medie ) เข้ากับคุณสมบัติของเครือข่าย เวิลด์ ไวด์ เว็บ เพื่อสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทางและเวลาที่แตกต่างกันของผู้เรียน การใช้คุณสมบัติของไฮเปอร์มีเดียในการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายนั้น หมายถึง การสนับสนุนศักยภาพการเรียนด้วยตนเองตามลำพัง ( One Alone ) กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเลือกสรรเนื้อหาบทเรียนที่นำเสนออยู่ในรูปแบบไฮเปอร์มีเดีย ซึ่งเป็นเทคนิคการเชื้อมโยงเนื้อหาหลัก ด้วยเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องรูปแบบการเชื่อมโยงนี้เป็นได้ทั้งการเชื่อมโยงข้อความไปสู่เนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องหรือสื่อภาพและเสียง การเชื่อมโยงดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนด้วยตนเอง
บทเรียนออนไลน์
บทเรียนออนไลน์ หรือบางคนเรียกว่า e-Learning เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในลักษณะหรือรูปแบบที่มีการถ่ายทอดเนื้อหาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซีดีรอม เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กทราเน็ต หรือ ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือ สัญญาณดาวเทียม ( Satellite ) ฯลฯ เป็นต้น
1. ความหมายของบทเรียนออนไลน์
แบ่งตามความหมายทั่วไปและความหมายเจาะจง คือ
- ความหมายโดยทั่ว ๆ ไป กล่าวว่า คำว่าบทเรียนออนไลน์จะครอบคลุมความหมายที่กว้างขวางมาก หมายถึง การเรียนในลักษณะใดก็ได้ ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหาผ่านอุปกรณือิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซทราเน็ต ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือสัญญาณดาวเทียม ( Satellite )
- ความหมายเฉพาะเจาะจง หมายถึง การเรียนเนื้อหาหรือสารสนเทศสำหรับการสอน หรือการอบรม ซึ่งใช้ในการนำเสนอด้วยตัวอักษร ภาพนิ่ง ผสมผสานกับการใช้ภาพเคลื่อนไหว วีดิทัศน์ และเสียง โดยอาศัยเทคโนโลยีของเว็บ ( Web Technology ) ในการถ่ายทอดเนื้อหารวมทั้งการใช้เทคโนโลยีจากระบบการจัดคอร์ส ( Course Management System ) ในการบริหารจัดการงานสอนด้านต่าง ๆ
2. ลักษณะของบทเรียนออนไลน์
เป็นการศึกษาที่เรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยผู้เรียนรู้จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จะเป็นไปตามปัจจัยภายใต้ทฤษฎีแห่งการเรียนรู้สองประการ ได้แก่ การเรียนตามความรู้ความสามารถของผู้เรียนเอง และการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล
โมบายเลิร์นนิ่ง ( Mobile-Learning )
โมบายเลิร์นนิ่ง เป็นการพัฒนาอีกขั้นของ e-Learning คือ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สาย m-Learning คือ การศึกษาทางไกลผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่แบบไร้สายต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ PDA และ laptop computer โดยมี Application ที่สำคัญต่าง ๆ เช่น มีเดียบอร์ด ( MediaBoards ) เป็นการเรียนรู้ผ่านระบบเอ็มเลิร์นนิ่งโดยเน้นที่การทำกิจกรรมเป็นกลุ่มเพื่อส่งและรับข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นและครูผู้สอน โดยสามารถส่งข้อมูลที่เป็นภาพ เสียง มัลติมีเดีย เว็บไซด์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือที่เรียกว่า Problem-Based learning ได้เป็นอย่างดี
สวนดุสิตอินเทอร์เน็ตบรอดคาสติ้ง ( Suan Dusit Internet Broadcasting : SDIB )
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของประเทศไทย ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ชื่อว่า สวนดุสิตอินเทอร์เน็ตบรอดคาสติ้ง ( Suan Dusit Internet Broadcasting : SDIB ) หรืออาจจะเรียกว่า “เอสดิ๊บ” ( SDIB ) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย บริการเผยแพร่ความรู้ และบริการวิชาการสู่สังคมผ่านเครือข่ายอินเทอร์น็ต เพื่อการขยายช่องทางการสื่อสารผ่านทางเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัย ภายใต้กรอบการจัดรายการผ่านเว็บไซด์คล้ายกับ “สถานีโทรทัศน์” เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมและค้นคว้าหาความรู้ทางวิชาการจากทางมหาวิทยาลัยได้
อินเทอร์เน็ตบรอดคาสติ้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้บริการของระบบ คือ
1. นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหลักสามารถใช้ระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งนี้รวมถึงนักศึกษาที่อยู่ในโครงการความร่วมมือกับส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศด้วย
2. ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ สามารถเข้ารับชมรายการถ่ายสด “ลอออุทิศ เรียลริตี้โชว์” ( Reality Show ) โดยผู้ปกครองต้องสมัครเป็นสมาชิกและสามารถดูกิจกรรมการเรียนของบุตรหลานตนเอง พร้อมกับสามารถส่งข้อเสนอแนะต่าง ๆผ่านระบบได้
3.ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมรายการต่าง ๆ ที่ให้บริการข้อมูล ข่าวสารที่เป็นความรู้เพื่อเป็นการบริการวิชาการสู่สังคมส่งข้อมูลข่าวสารของระบบอินเทอร์เน็ตบรอดคาสติ้ง
ห้องสมุดเสมือน ( Virtual Library )
1. ความหมายของห้องสมุดเสมือน
ห้องสมุดเสมือน คือ การทำงานของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมผสมผสานกับการจัดการข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งข้อมูลในห้องสมุด และข้อมูลจากแหล่งความรู้อื่น ๆ เป็นเสมือนประตูที่เปิดสู่ห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลก

2. ความเป็นมาของห้องสมุดเสมือน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการผลิตสารสนเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณของทรัพยากรสารสนเทศมีมากเกินกำลังที่ห้องสมุดจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
3. ระดับของห้องสมุดเสมือน
ห้องสมุดเสมือนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ผู้ใช้เข้าถึงห้องสมุดโดยทางอิเล็กทรอนิกส์
2. ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการนำส่งเอกสารที่เป็น
สิ่งพิมพ์ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทางโทรสาร หรือทางไปรษณีย์
3. ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์โดยทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นระบบห้องสมุดที่ปราศจากหนังสือ โดยผู้ใช้จะทำการสืบค้นรายการสารสนเทศที่ต้องการผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และทางห้องสมุดจะจัดส่งเอกสารให้แก่ผู้ใช้ผ่านทางระบบเครือข่าย
4. คุณลักษณะของห้องสมุดเสมือน
ห้องสมุดเสมือนมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1. Public Access Information คือ การเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
2. Electronic Image Document คือ ทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำสำเนาได้ในปริมาณมากเท่าที่ต้องการ
3. Open Network Delivery คือ ความสามารถในการขนถ่ายทรัพยากรสารสนเทศ โดยเชื่อมโยงต่อด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
4. Intellectual Property Management คือ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงลิขสิทธิ์ของทรัพยากรสารสนเทศที่นำมาให้บริการ
5. ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดเสมือน
เนื่องจากสิ่งพิมพ์ของห้องสมุดมีจำนวนมาก ห้องสมุดไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่ให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมด จึงจัดเอกสารในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
1. ฐานข้อมูลซีดี-รอม เป็นทางออกหนึ่งของห้องสมุดที่หามาจัดเก็บในฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้ได้สืบค้นและได้เอกสารฉบับเต็ม
2. ฐานข้อมูลออนไลน์หรือฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ที่ห้องสมุดบอกรับเป็นสมาชิก เพื่อให้บริการข้อมูลเอกสารฉบับเต็มในสาขาวิชาต่าง ๆ
3. การพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์วิธีหนึ่งและเป็นการสร้างจากต้นฉบับของเอกสาร